นักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชรคู่

บทความใน Blog นี้ คัดลอกมาจากบางส่วนใน Facebook ของท่านอาจารย์วิจิตร คงพูล ซึ่งมีคุณค่า และมีพลัง ผมได้รับเกียรติอนุญาตให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่ เพื่อบันทึก และเผยแพร่ให้คนที่โชคดีได้ศึกษาแนวคิดของท่านต่อไปนานเท่านาน ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

บทความ วันที่ 21 มีนาคม 2555

รุ่งอรุณ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของวัน สรรพชีวิตตื่นขึ้นพร้อมเพรียง รอรับแสงแรกของวันใหม่ เพื่อเติมเต็มพลังจากจักรวาล แต่ภาระกิจของชีวิตยุคใหม่ พรากผู้คนออกห่างธรรมชาติ ติดกับดักกันอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์สร้าง คับแคบ กดดัน และเร่งเร้า ยากที่ใครจะเข้าถึงความสุขสงบได้



------------------------------------


ตื่นเช้าวันนี้ปล่อยนก ๒ ตัว(หนังสือ ๒ เล่ม)ผ่าน Flying Book ของแอมเวย์ เป็นการทำบุญโดยวิธีง่ายๆได้กุศลมาก เพราะเป็นการให้ธรรมเป็นทาน ที่ท่านบอกว่าเป็นการให้ที่สูงสุด 
ขอบคุณแอมเวย์ประเทศไทย ที่คิดทำกิจกรรมนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมในการนำไอทีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างง่าย เหมาะเจาะ เป็นประโยชน์ และคนจำนวนมากสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง



-----------------------------

คนมีเงินในประเทศเรา ถ้าซื้อรถ สร้างตึก ลงทุน และบำรุงวัตถุกันพอสมควรแล้ว ควรจะได้ออกไปทำเกษตร และปลูกต้นไม้กันให้มากๆ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชนบท ให้สามารถเลี้ยงดูคนด้อยโอกาสให้อยู่ดีมีสุขในท้องถิ่นของเขา ดีกว่าปล่อยให้เขายากลำบาก จนต้องละทิ้งบ้านเกิดแห่กันไปรับใช้สังคมเมือง อย่างไม่มีความหวัง



บทความ วันที่ 19 มีนาคม 2555

ถ้าเราคิดแต่จะหางานหาเงิน ทำงานทำเงิน เราจะตกเป็นทาสงานทาสเงินตลอดไป ถ้าปรารถนาอิสรภาพและความมั่งคั่ง ต้องสร้างงานที่มีระบบอันยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้ที่ต่อเนื่อง เมื่อนั้นแหละชีวิตจึงจะหลุดพ้นจากการเป็นทาสงานและเป็นทาสเงิน



----------------------------------------------------------------------------------

เมื่อไรที่เราปลดพันธนาการของชีวิตออกจากวังวนของงาน-เงินแบบไร้เหตุผลนี้ได้ ในวันที่เรามีอิสรภาพทางการเงิน เราจะได้เห็นมุมดีๆของชีวิตและพื้นที่ยังงดงามบนโลกใบนี้ ที่ยังมีคนไปถึงได้ไม่มากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ติดข้องอยู่กับภาระที่ยุ่งเหยิง งานหนัก เงินน้อย และชีวิตที่ถูกล้อมกรอบอยู่ด้วยข่าวร้ายๆไม่จบสิ้น



บทความ วันที่ 12 มีนาคม 2555


บนเวทีเสวนาเมื่อวาน ประเด็นหนึ่งที่เราพูดถึงกันคือการถ่ายโอนธุรกิจที่เราสร้างกันมาแก่คนรุ่นต่อไปอันหมายรวมถึงลูกหลานของเราด้วย


กิจการและวิธีการต่างๆในโลกยุคใหม่ มีแนวโน้มจะเป็น "ชั่วคราว" เกิดเร็วโตเร็วตายเร็ว มากกว่าที่จะ "ยั่งยืน" การที่มีกิจการงานอะไรที่ยั่งยืนไปถึงขั้นที่จะถ่ายโอนไปยังคนรุ่นต่อไปได้อย่างสอดคล้องต้องกันกับกับธรรมชาติของพวกเขา ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา


มีธุรกิจโมเดลเก่ารุ่นพ่อแม่ไม่น้อยที่บากบั่นฟันฝ่ากันมาชั่วชีวิต จนเหลือมาถึงรุ่นลูก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่เฉพาะที่เมืองไทย คือคนรุ่นลูกไม่ยอมเข้าไปแบกรับธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมา เพราะคนรุ่นใหม่มีธรรมชาติอย่างใหม่ที่ไม่เหมือนรุ่นพ่อแม่ เช่น เขามีความรู้ เขาชอบความแปลกใหม่ ชอบสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ รักอิสระ ชอบชีวิตที่มีคุณภาพและความสุขสบาย แต่เขาก็พร้อมที่จะเหนื่อยกับสิ่งที่เขารู้สึกท้าทายและมีความหวัง


จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะให้คนรุ่นใหม่ ยุติการแสวงหา ละทิ้งอิสระภาพและคุณภาพชีวิต มาตรากตรำจำยอมและอดทน อยู่กับความยุ่งยากและเครียดกลุ้ม กับการงานรุ่นพ่อแม่ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น 


ธุรกิจแนวใหม่ที่ท้าทายและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นด้วยตนเอง ให้โอกาสที่จะใช้ความคิดริ่เริ่มและความฝันที่ตนมี สร้างการงานของตนเองขึ้นมา เพื่อรางวัลที่เป็นความมั่งคั่ง ยั่งยืน และมีอิสรภาพ นี่คือลักษณะของธุรกิจที่จะเลื่อนไหลไปสู่คนรุ่นลูกโดยธรรมชาติได้เองโดยไม่มีปัญเรื่องการถ่ายโอน




บทความ วันที่ 9 มีนาคม 2555


ผมได้อ่านบทสนทนาสั้นๆ ของสาวน้อยสองคน คนหนึ่งปรารภว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนคือพอดี อีกคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน
ความพอดี กาละเทศะ ความเหมาะสม ความปกติ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน(win-win) ความสมดุลย์(balance) อุเบกขา(equilibrium) ทางสายกลาง ..... เป็นอุดมคติของการใช้ชีวิตที่นำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน แต่นั่นแหละเราจะรู้ได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วย ความรู้ ความคิด การวิเคราะห์ การอนุมาน แต่เข้าถึงได้ด้วยการลงมือปฏิบัติ และเป็นการปฏิบัติที่ไม่เห็นแก่ตัวด้วย เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตนเป็นคนๆไป เหมือนการเลี้ยงตัวอยู่บนจักรยาน ไม่มีใครบอกใครได้ว่าให้ถ่ายน้ำหนักไปทางซ้ายขวาเท่าใดและรักษาความเร็วเท่าใดจึงจะสมดุลย์พอดีอยู่ได้โดยไม่ล้ม ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
เมื่อวานเราเสียเวลาไปมากมายในที่ประชุม ในการพูดคุยอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดจากคนเพียงคนเดียว ที่ไม่รู้จักความเหมาะสม ทำสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ไม่สมดุลย์พอดี .....
และเมื่อคืนตอนที่เดินทางกลับบ้าน มีรถนับร้อยๆคันติดยาวเหยียดหลายกิโลเมตรจนเวลาดึกดื่นใกล้เที่ยงคืน เพียงเพราะคนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ขับรถไม่รู้จักความพอดี จนทำให้เกิดปัญหาแก่คนอื่น
ความพอดี ระบบคุณค่าของคนตะวันออก ที่บรรพบุรุษของเราคุ้นเคย ยังจะมีความหมายต่อสันติภาพและความปกติสุขของสังคมตลอดไป เราต้องช่วยกันกู้กลับมาให้ได้ โดยไม่ต้องรอให้ฝรั่งเขียนเป็นหนังสือมาขาย



____________________

คนเรามีวิธีหาความทุกข์ใส่ตัวได้สารพัดแบบ มีน้องคนหนึ่งกำลังอึดอัดใจไม่เป็นสุข เพราะที่ทำงานไม่อนุญาตให้ลา เพื่อเดินทางไกลไปนั่งวิปัสนา ๗-๘ วัน เป็นทุกข์เพราะไม่ได้ไปหาความสุข ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องหาความสุขเสียดีกว่าจะได้ไม่ทุกข์

สถานที่อันสงบสวยงามและครูบาอาจารย์ที่ดี มีอยู่เฉพาะที่ เมื่อต้องการอาจต้องเดินทางไปหา แต่ความสุขและความทุกข์เกิดดับอยู่ในตัวเรา ไม่ต้องหนีไปไหนและไม่ต้องไปหาที่ไหน จะให้มันอยู่หรือจะให้มันไปฝึกทำใจเอาเอง

การทำใจนั้นเป็นของยากสำหรับคนไม่เคยฝึก การทำงานจะเป็นเป็นวิธีที่ง่ายกว่า การลงมือทำงานเป็นโอสถวิเศษที่เยียวยาปัญหาชีวิตได้




บทความ วันที่ 7 มีนาคม 2555


ผมได้รู้จักคนดีที่หายาก ๒ คน ต่างวาระต่างเวลากัน คนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกคนหนึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทยา คนหนึ่งอาวุโส อีกคนหนึ่งเป็นผู้น้อย แต่เธอทั้งสองมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างบังเอิญ คืออุทิศตัวให้กับงาน ทำงานหนักเต็มเวลา ทำล่วงไปถึงกลางคืน กลับบ้านดึกดื่น แม้ในวันหยุด เมื่อที่ทำงานต้องการตัว เธอก็ไม่เคยขัดที่จะไป ทั้งๆที่บ่นด้วยความรู้สึกหนักใจกับภาระงานที่มากมายเช่นนั้น แต่เธอทั้งสองคนก็ไม่ได้ทำอะไรอื่นนอกจากงานประจำ 


เมื่อพูดกันถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานของตนเองบางอย่าง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดและเพื่ออนาคต เธอได้คิด และเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องละวางงานประจำที่รุกล้ำเวลาส่วนตัวของเธอ เธอไม่อาจละวางได้ เธอรู้สึกว่าเธอเท่านั้นที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เธอคิดไม่ออกจริงๆว่าจะละวางไปได้อย่างไร


เป็นไปได้ว่าบางครั้ง ความนึกคิดสามัญบางอย่างได้สูญหายไปจากชีวิตของเรา เธอทั้งคู่นี้ลืมไปว่าเธอมีสิทธิ์เต็มที่กับเวลาที่เป็นส่วนของชีวิตเธอ เธอลืมไปว่างานบางอย่างถึงเธอไม่ทำก็มีคนอื่นมาทำแทน แต่หน้าที่ต่อชีวิตของเธอนั้น ถ้าเธอไม่ทำ ไม่มีใครทำแทนได้




บทความ วันที่ 3 มีนาคม 2555


วันนี้ระหว่างรอเครื่องบิน ได้พบเพื่อนเก่าที่เคยร่วมงานในสถาบันเดียวกัน ได้มีโอกาสถามทุกข์สุขถึงรุ่นพี่รุ่นน้องที่เคยทำงานร่วมกันมา มีแต่ข่าวเศร้า คนนั้นตายแล้วคนนี้ตายแล้ว คนนั้นเป็นอัมพาต คนโน้นกำลังป่วยด้วยโรคร้าย


เพื่อนๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความรู้สูง เป็นคนดีมีความสามารถ มีเกียรติประวัติดีเด่นในการทำงาน แต่น่าเสียดายที่ตายง่ายเกินไป ไม่สามารถดูแลชีวิตตนเองให้ตลอดรอดฝั่งได้ เพราะละเลยสุขภาพและสมดุลย์ชีวิต 


ยังมีคนอีกไม่น้อย ที่ทั้งชีวิตอุทิศให้กับความรู้ การงาน เกียรติยศชื่อเสียง และความสำเร็จ ที่ไม่ได้ส่งผลไปชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง




บทความ วันที่ 1 มีนาคม 2555


ผมมาพัทลุงเมื่อวาน เมื่ิอคืนมีสาวน้อยนักขายมาพบ เราสนทนากัน 2 ชั่โมง ผมแปลกใจมากที่เราได้เจอกันที่นี่ เธอเป็นคนเหนือ ลงมาทำงานเซลล์ที่กรุงเทพ ขับรถตระเวณไปหาลูกค้าตามจังหวัดต่างๆทั่วอีสาน ปลายเดือนก่อนเธอโทรมาจากหนองคาย สัปดาห์นี้เธอมาสร้างลูกค้าที่พัทลุง แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว


ผมถามถึงความก้าวหน้าในงานการเป็นตัวแทนขาย ถามถึงรายได้และเงินที่เหลือเก็บ ถามถึงอนาคต เธอรู้ว่ามันไม่ดีเลย แต่เธอชอบและมีความสุขกับงานแบบนี้ ถ้าลงเอยว่าชอบและมีความสุข ทุกอย่างน่าจะจบ แ่ต่ผมคิดว่าชีวิตเธอยังไม่ได้เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ 


เราคุยกันว่า ที่สุดแล้วงานที่เราชอบและมีความสุขนั้น มันต้องให้รางวัลแก่ชีวิตที่เราชอบและมีความสุขด้วย ยิ่งกว่านั้นมีนก็ยังประโยชน์แก่คนอื่นด้วย เราคุยกันเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืน คุยเรื่องงานจะตอบโจทย์ชีวิตได้ตลอดสาย ไม่ใช่แค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง คุยกันถึงการวิ่งรอกหาเงินและการทำให้เงินวิ่งมาหา คุยกันถึงอิสรภาพและพันธนาการ คุยกันเรื่องการปลูกพืชบนที่ดินของตนเองและการปลูกพืชบนที่ดินของคนอื่น และอีกหลายเรื่อง 


ผมรู้สึกว่าเธอเป็นคนดี เป็นเก่งที่ขยันแต่ไม่มีอนาคต จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด่วน